ประวัติความเป็นมา
สมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
สมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เกิดจากการรวมตัวของนักจัดรายการวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์ ผ่านการอบรมหลักสูตร “ เจ้าหน้าที่รายการวิทยุกระจายเสียง” ตั้งแต่รุ่น ๑ – ๔ ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๑๗ – ๒๕๑๘ จำนวน ๑,๑๖๙ คน ซึ่งโรงเรียนการประชาสัมพันธ์ (ปัจจุบันเป็นสถาบันการประชาสัมพันธ์ กรมประชาสัมพันธ์ สำนักนายกรัฐมนตรี) ดำเนินการตามระเบียบกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบการบริหารงานวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๑๘
เมื่อวันที่ ๒๗ มิถุนายน ๒๕๑๘ ได้มีการประชุมคณะกรรมการรุ่น ๑ – ๔ เพื่อพิจารณารวมตัวกันจัดตั้งเป็นชมรมเพื่อดำเนินการจัดกิจกรรมต่างๆ ไปในทิศทางเดียวกัน เรียกว่า “ ชมรมนักวิทยุและโทรทัศน์ ” ประกอบด้วย นายพยงค์ มุกดา พ.ท.จุมพล ปัทมินทร์ พ.อ.อ.สมคิด ธนะนิมิต นายอำนาจ สอนอิ่มสาตร์ นาวาตรี จำเนียร ศรีพิณ
นายไพบูลย์ ศุภาวารี ได้มอบหมายให้ นายพยงค์ มุกดา ยื่นจดทะเบียนตั้งเป็นสมาคมต่อกระทรวงศึกษาธิการ ตามคำขอที่ ๕/ ๒๕๒๑ และได้รับอนุญาตให้จัดตั้งสมาคมตามหนังสือของทางกรมศาสนากระทรวงศึกษาธิการ ที่ ต.๕ / ๒๕๒๑ ลงวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๒๑ โดยมีชื่อตามหนังสืออนุญาตจัดตั้งว่า “ สมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์ ” มีสำนักงานตั้งอยู่เลขที่๖๒/๒๒- ๒๔ ถนนประชาราษฏร์สาย๑ แขวงบางซื่อ เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกันกับห้องบันทึกเสียงของ นายไพบูลย์ ศุภวารี หนึ่งในกลุ่มนักจัดรายการผู้ที่ร่วมก่อตั้งสมาคมฯ
ปี ๒๕๒๓ คณะกรรมการบริหารสมาคม นำโดย นายอำนาจ สอนอิ่มสาตร์ นายกสมาคมฯคนแรกของสมาคมฯ ได้ยื่นหนังสือถึงอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ เพื่อขอใช้พื้นที่ ส่วนหนึ่งของกรมประชาสัมพันธ์ ที่บริเวณซอยอารีย์ซึ่งเป็นพื้นที่สถานีเครื่องส่งวิทยุกระจายเสียงภายในประเทศ ประมาณ ๒๐๐ ตารางวา เพื่อสร้างสำนักงานถาวรของสมาคม โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อประสานงานและให้ความร่วมมือกับกรมประชาสัมพันธ์ ในงานด้านการประชาสัมพันธ์ของรัฐ กรมประชาสัมพันธ์ได้กรุณาอนุมัติให้ใช้พื้นที่ตามที่ขอไปได้ โดยอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ (นายกำจัด กีพานิช) ได้มีหนังสืออนุมัติที่ สร. ๑๖๐๑/ ๕๗๑๔ ลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๒๓
การก่อสร้างที่ทำการถาวรที่ได้รับอนุมัติ ได้ดำเนินการเรื่อยมาภายใต้การบริหารของคณะกรรมการบริหารชุดแรก ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐ และนายเฉลียว อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการบริษัท กระทิงแดง บริจาคเงินค่าก่อสร้างเป็นทุนประเดิม ๑ ล้านบาท จนถึงปลายปี พ.ศ. ๒๕๒๔ การก่อสร้างจึงแล้วเสร็จ
นายอำนาจ สอนอิ่มสาตร์ นายกสมาคมฯ ได้นำความขึ้นกราบบังคมทูลขอพระราชทานอัญเชิญ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดที่ทำการ ณ ห้องประชุมสมาคม เมื่อวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๒๕ เวลา ๑๗.๐๐ น. เมื่อสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระราชดำรัสแก่แขกผู้มีเกียรติที่มาเข้าเฝ้าฯ ในพิธี แล้วเสด็จฯออกจากห้องประชุมทรงลงพระนามาภิไธยไว้ในสมุดเยี่ยมของสมาคมว่า “สิรินธร” ซึ่งต่อมาสมาคมได้อัญเชิญจารึกลงไว้ในแผ่นทองเหลืองติดตั้งไว้หน้าสมาคม เพื่อรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณตราบจนถึงปัจจุบัน
พันเอก ชำนาญ รัตนวรางค์ ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม (คนที่ ๒) ปี พ.ศ. ๒๕๒๗ ได้ดำเนินการปรับปรุงตกแต่งภายใน และหาทุนใช้หนี้ก่อสร้างที่ค้างอยู่ส่วนหนึ่งจนเสร็จ และได้ทำการก่อสร้างต่อเติมอาคารส่วนหนึ่งเป็นพื้นที่ที่เอนกประสงค์และห้องพักเจ้าหน้าที่สมาคม จนเสร็จสมบูรณ์
นายไพบูลย์ ศุภวารี ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคม (คนที่ ๓) สมัยที่๕ วาระปี (พ.ศ.๒๕๓๐ – พ.ศ.๒๕๓๑) เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ แต่ได้ลาออกจากตำแหน่งเนื่องจากสุขภาพไม่อำนวย นายวีระ ลิมปะพันธุ์ ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการในตำแหน่งนายกสมาคมฯ แทนเมื่อกลางปี พ.ศ.๒๕๓๓
นายวีระ ลิมปะพันธุ์ ได้รับเลือกตั้ง เป็นนายกสมาคม (คนที่ ๔) สมัยที่ ๖ วาระปี พ.ศ. ๒๕๓๓ – ๒๕๓๔ จนถึง สมัยที่ ๑๙ วาระปีพ.ศ. ๒๕๕๙ – พ.ศ ๒๕๖๐ รวม ๒๘ ปี
ภายใต้การบริหารคณะกรรมการ นำโดย นายวีระ ลิมปะพันธุ์ สมาคมได้ยื่นขอจดทะเบียนชื่อสมาคม จากเดิมสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์ เป็น “ สมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ” ตามหนังสืออนุญาตของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ที่ ศธ ๑๓๐๖ / ๓๖๓๐ ลงวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๓๔ และได้ยื่นจดทะเบียนสมาคม กรมตำรวจ เลขลำดับที่ จ. ๑๕๒๔ เมื่อวันที่ ๒๖ สิงหาคม ๒๕๓๗ และนอกจากนั้น ยังได้ก่อสร้างอาคารเพิ่มเติม เพื่อรองรับการขยายตัวของสมาชิกเพิ่มขึ้น โดยได้รับบริจาคจากนายเฉลียว อยู่วิทยา กรรมการผู้จัดการบริษัทกระทิงแดง ๑ ล้านบาท
เมื่อ นายวีระ ลิมปะพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งจากสมาชิกให้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ วาระปี พ.ศ. ๒๕๓๗ – ๒๕๓๘ ได้ทำหนังสือเสนอต่อราชเลขาธิการพระราชวัง เพื่อขอให้นำความกราบบังคมทูลให้สมาคมเข้าอยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ และได้รับพระบรมราชานุญาต รับสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย เป็นสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ “ สมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ” ตั้งแต่วันที่ ๑๗ มกราคม ๒๕๓๙ ตามหนังสือ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ที่ นร. ๐๒๑๗/๕๗๔๐ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๓๙
นายบริพันธ์ ชัยภูมิ ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฯ (คนที่ ๕) สมัยที่ ๒๐ วาระปีพ.ศ ๒๕๖๑ – พ.ศ ๒๕๖๒ ตามใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนการแต่งตั้งกรรมการของสมาคมขึ้นใหม่ทั้งชุด ลงวันที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๖๑ ซึ่งคณะกรรมการบริหารชุดนี้ได้ปฏิบัติงานครบตามวาระ ๒ ปี และมีการเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารสมาคมฯ ชุดใหม่ตามระเบียบ
นางสาวพรลพัชร นรารัตน์วันชัย ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฯ (คนที่ ๖) สมัยที่ ๒๑ วาระปี พ.ศ. ๒๕๖๓ – พ.ศ.๒๕๖๔ ตามใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนการแต่งตั้งกรรมการของสมาคมขึ้นใหม่ทั้งชุด ในวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๓
และล่าสุด นางสาวชุติพันธุ์ ลิมปะพันธุ์ ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกสมาคมฯ (คนที่ ๗) สมัยที่ ๒๒ วาระปี พ.ศ. ๒๕๖๕- พ.ศ.๒๕๖๖ ตามใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนการแต่งตั้งกรรมการของสมาคมขึ้นชุดใหม่ทั้งชุด ในวันที่ ๕ ตุลาคม ๒๕๖๕
แม้ว่า ระเบียบว่าด้วยการบริหารงานวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ. ๒๕๑๘ จะถูกยกเลิกเมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๕ ก็ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กสทช.) ขึ้นแทน และระเบียบดังกล่าว ได้รับการปรับปรุงแก้ไขเป็นระเบียบคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ยังคงมีสาระสำคัญ เกี่ยวกับการบริหารกิจการวิทยุและโทรทัศน์ ตลอดจนนักจัดรายการและบุคลากรที่เกี่ยวข้องเหมือนเดิม
ดังนั้น การอบรม “ เจ้าหน้าที่รายการวิทยุกระจายเสียง” ภายใต้ระเบียบดังกล่าว จึงได้ดำเนินการติดต่อกันตลอดมาอย่างต่อเนื่อง ปี พ.ศ. ๒๕๔๒ มีการอบรม รุ่นที่ ๓๓ ระหว่างวันที่ ๑๓ – ๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๒ และรุ่นที่ ๓๔ ระหว่างวันที่ ๑๖- ๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๔๒ ( ปี พ.ศ. ๒๕๔๓ อบรม ๒ รุ่น คือ รุ่นที่ ๓๕ และ๓๖)
การจัดอบรมมีการพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัย และมีสาระความรู้ครบถ้วน เพื่อให้ผู้เข้าอบรมได้รับความรู้และนำไปปฏิบัติประกอบอาชีพให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปี พ.ศ.๒๕๖๑ จนถึงปัจจุบัน ได้พัฒนาหลักสูตรการอบรมบุคลากรให้ความรู้ ทางด้านวิทยุกระจายเสียง โทรทัศน์ และเพิ่มเติมในเรื่องสื่อออนไลน์ด้วย เนื่องจากในยุคปัจจุบันสื่อออนไลน์มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการประกอบอาชีพด้านสื่อสารมวลชน ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ ได้เปลี่ยนชื่อหลักสูตรเป็น “ หลักสูตรนักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ ” และเปิดอบรมหลักสูตรนักจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ รุ่น ๗๖ ระหว่างวันที่ ๑๙ –๒๓ ตุลาคม ๒๕๖๒ และรุ่นล่าสุดคือ รุ่น ๗๗ ระหว่างวันที่ ๕-๙ ธันวาคม ๒๕๖๓ ปัจจุบันสมาชิกของสมาคมฯ ประกอบด้วยบุคคลหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิกรวม ๓๐,๐๐๐ กว่าคน
นอกจากนี้ สมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ยังสนับสนุนและช่วยเหลือสังคมในทุกด้าน ปี พ.ศ. ๒๕๓๙ นายวีระ ลิมปะพันธุ์ นายกสมาคมฯ และคณะกรรมการบริหารฯ จัดให้มีรางวัลเทพทองขึ้น เพื่อเป็นรางวัล เป็นขวัญและกำลังใจ ให้กับองค์กรดีเด่น ผู้ที่ทำคุณประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติ นักวิทยุดีเด่น และนักโทรทัศน์ดีเด่นทั่วประเทศ
ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ นายวีระ ลิมปะพันธุ์ นายกสมาคมฯ ได้ทำหนังสือทูลเกล้า ฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระราชทานรางวัลเทพทอง ให้กับองค์กรดีเด่น นักวิทยุดีเด่น นักโทรทัศน์ดีเด่น และผู้ให้การสนับสนุนการจัดงานรับโล่พระราชทาน ซึ่งรางวัลเทพทอง ถือเป็นรางวัลพระราชทานอันทรงค่ายิ่งกับสมาคมนักวิทยุและโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
ปี พ.ศ. ๒๕๖๒ โดยนายบริพันธ์ ชัยภูมิ นายกสมาคมฯ ได้ทำหนังสือขอทูลเกล้าฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานรางวัลเทพทอง ครั้งที่ ๒๐